การรักษาผู้ป่วยด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง คือ การให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ขณะอยู่ใน “ห้องปรับบรรยากาศ” (Hyperbaric Oxygen Therapy)

ออกซิเจน นอกจากจะเป็นก๊าซที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตแล้ว ออกซิเจนยังมีบทบาทสำคัญด้านการแพทย์ด้วย โดยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆได้มากมายผ่านเครื่องมือทันสมัยที่ชื่อ “Hyperbaric Chamber”   การรักษาผู้ป่วยด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy) หรือ “HBO” ทำโดยให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ขณะอยู่ใน ห้องปรับบรรยากาศ (Hyperbaric Chamber)” ที่มีความดันภายในสูงกว่า 1 บรรยากาศ ซึ่งการหายใจด้วยวิธีนี้จะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนในประมาณสูงมากกว่าการหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ที่บรรยากาศปกติหลายเท่า  การรักษานี้เป็นการรักษาเสริมหรือเพิ่มเติมอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ร่วมกับการรักษาทางอายุรกรรมและศัลยกรรม

ผลของการเพิ่มปริมาณออกซิเจนในร่างกายมีผลต่อร่างกายคือ                                         
     1.ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการเจริญของเนื้อเยื่อและหลอดเลือดฝอย                                   
     
2.ช่วยยับยั้งและต่อต้านการติดเชื้อโรคบางชนิด         
     
3.เพิ่มประสิทธิภาพเซลล์เม็ดเลือดขาวในการทำลายเชื้อโรค                                                
     
4.ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปสู่อวัยวะที่ขาดเลือดได้ดีขึ้น        
     5. ลดอาการบวมของอวัยวะ
     6.ลดขนาดของฟองอากาศในเนื้อเยื่อและหลอดเลือด

HBO จึงมีผลในการเสริมสร้างการหายของบาดแผล โดยเฉพาะแผลเรื้อรังที่เกิดจากปัญหาบางอย่าง เช่น เบาหวาน เส้นเลือดตีบตัน หรือแผลที่เป็นผลมาจากการฉายรังสี บาดแผลที่หายยากเหล่านี้มีลักษณะเหมือนๆกันประการหนึ่ง คือ ในเนื้อเยื่อรอบแผลมีระดับออกซิเจนต่ำ เพราะมีเลือดมาเลี้ยงน้อย เซลล์ต่างๆที่มีหน้าที่ทำให้แผลหายไม่สามารถทำงานสร้างเนื้อเยื่อได้ตามปกติ การให้ HBO ทำให้ปริมาณออกซิเจนในเนื้อเยื่อรอบแผลมีมากขึ้น เซลล์ต่างๆที่ได้รับออกซิเจนจะเริ่มทำงาน ทำให้สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ มีการสร้างเนื้อเยื่อและหลอดเลือดฝอยใหม่ๆขึ้นทำให้แผลหายได้ นอกจากนี้การบาดเจ็บที่รุนแรงซึ่งมีการบวมของเนื้อเยื่อ หรือการบาดเจ็บของอวัยวะที่ถูกบดกระแทก ภาวะติดเชื้อเรื้อรังของกระดูก บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ยังสามารถใช้ HBO ช่วยรักษาได้อีกด้วย          

ผลดีของการรักษาด้วย HBO คือ ลดความพิการและสูญเสียอวัยวะ ซึ่งบางรายแพทย์อาจต้องทำผ่าตัดเอาอวัยวะส่วนนั้นทิ้ง เช่นตัดนิ้วมือ หรือนิ้วเท้า ช่วยลดบวมในแผลถูกบดกระแทก ช่วยให้แผลเรื้อรังต่างๆที่เกิดจากการขาดออกซิเจนหายเร็วขึ้น จึงช่วยลดระยะเวลาของการรักษาลง สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติเร็วขึ้น และลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษา

ภาวะบ่งชี้ในการรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง ตามที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมเวชศาสตร์ใต้น้ำและเวชศาสตร์ความกดบรรยากาศสูงของสหรัฐอเมริกา (Undersea and Hyperbaric Medicine Society, UHMS) ในปัจจุบัน ได้แก่

1. โรคฟองแก๊สอุดตันในหลอดเลือดแดง(Air or Gas Embolism)

2. โรคคาร์บอนมอนนอคไซด์เป็นพิษ / การสำลักควันไฟ(CO Poisoning and Smoke Inhalation)

3. การติดเชื้อของเนื้อเยื่อจากแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน (Clostridial Gas Gangrene)

4. การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อเนื่องจากการถูกบดขยี้ (Crush Injury: Compartment Syndrome, Acute Traumatic Ischemia)

5. โรคลดความกด (Decompression Sickness)

6. โรคแผลหายยาก (Problem Wounds)ได้แก่

             6.1 แผลเบาหวาน (Diabetic ulcers)

             6.2 แผลเนื่องจากการกดทับ (Pressure ulcers)

             6.3 แผลเนื่องจากการไหลเวียนในหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดงไม่ดี (Ischemic ulcers)

7. โลหิตจางเนื่องจากเสียเลือดจำนวนมาก (Exceptional Blood Loss)

8. การติดเชื้อและมีการตายของเนื้อเยื่อ (Necrotizing Soft Tissue Infection)

9. การติดเชื้อเรื้อรังของเยื่อหุ้มกระดูก (Refractory Osteomyelitis)

10. การปลูกถ่ายผิวหนังและกล้ามเนื้อ (Compromised Skin Graft or Flap)

11. การได้รับบาดเจ็บจากรังสี (Radiation Injury)

             11.1 กระดูกและเนื้อเยื่อตายเนื่องจากได้รับรังสี (Osteoradionecrosis / ORN )

             11.2 เนื้อเยื่อตายเนื่องจากได้รับรังสี ( Soft Tissue Radionecrosis / STRN )

             11.3 ฟันผุเนื่องจากได้รับรังสี (Radiation Caries)

12. แผลไหม้จากความร้อน (Thermal Burn)

13. โรคฝีในสมอง (Intracranial Abscess)

ชนิดและลักษณะของห้องปรับบรรยากาศ ที่ใช้ดำเนินการรักษาผู้ป่วยอยู่ในปัจจุบัน เป็นห้องปรับความดันบรรยากาศสูงชนิดคนเดียว (Monoplace Chamber)
            – ลักษณะคล้ายหลอดแก้วใหญ่ทำด้วยพลาสติกอะครีลิคใส   ขนาด 
0.7 X 2.2 เมตร
            – สามารถทนความกดบรรยากาศได้สูงสุด 
บรรยากาศ
            – สามารถจุผู้ป่วยนอนได้ครั้งละ 
คน เท่านั้น
            – ผู้ป่วยสามารถผ่อนคลาย นอนพัก หรืดูโทรทัศน์ ขณะเข้ารับการรักษา
            – ภายในห้องนี้เพิ่มความกดบรรยากาศด้วยออกซิเจนผู้ป่วยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยในการหายใจ
            – มีระบบสื่อสาร ผู้ป่วยสามารถพูดคุยติดต่อกับบุคคลภายนอกได้ขณะเข้ารับการรักษา

Credit :

ผศ.พญ.สุภาพร โอภาสานนท์

สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ ภาควิชาศัลยศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top